บทความอาคารเขียว โดย ดร จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on pinterest
Pinterest
Share on print
Print

อาคาร [สี] เขียวอ่อน เขียวกลางๆ เขียวเข้ม

โดย ผศ.ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์ LEED AP

ในปัจจุบันอาคารเขียว (Green building) กำลังเป็นสนใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงการการออกแบบและการก่อสร้าง ปัจจัยที่สำคัญคงจะเป็นภาพลักษณ์ของโครงการที่ดูน่าสนใจกว่าโครงการอื่นๆทั่วไปในท้องตลาด ภาพลักษณ์ที่หลายโครงการต้องการจะให้เป็นคือการเป็นผู้ใส่ใจทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อโครงการในหลายๆด้าน ทั้งในแง่การส่งเสริมภาพลักษณ์องค์การ การเพิ่มมูลค่าโครงการ การแข่งขันในท้องตลาด การค่าไฟฟ้าอันเนื่องมาจากาการใช้พลังงานของอาคาร เป็นต้น ด้วยผลประโยชน์เหล่านี้ ผู้ประกอบการเริ่มตระหนักดีว่า การทำอาคารเพื่ออนุรักษ์เพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม  ไม่ใช่เป็นเรื่องของเจตนารมณ์การทำดีเพื่อสังคมองค์รวมเพียงอย่างเดียว หากแต่การทำโครงการอาคารเขียวเป็นลักษณะ “Win Win” สามารถส่งเสริมธุรกิจของโครงการในหลากหลายรูปแบบ หากผู้ประกอบการมีการวางแผนให้ดีย่อมส่งผลเชิงบวกต่อโครงการในด้านต่างๆ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน อาคารเขียว ได้พัฒนามาถึงจุดที่มีเกณฑ์การประเมินแล้ว ซึ่งมีสถาบันทั้งในไทยและในต่างประเทศรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับในต่างประเทศ เกณฑ์ประเมินอาคารเขียวมีอยู่หลากหลาย ทั้ง BREEAM ของ อังกฤษ CASBEE ของ ญี่ปุ่น Green Globe ของแคนนาดา Green Star ของ ออสเตเลีย หรือ ใกล้ๆบ้านเราก็มี Green Mark ของสิงค์โปร์  แต่เกณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคงหนีไม่พ้นเกณฑ์ LEED ของ สหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดย USGBC โดยมีอาคารลงทะเบียนเข้าร่วมประเมินถึงกว่า 25,000 โครงการทั่วโลก สำหรับประเทศไทย เกณฑ์ที่กำลังพัฒนาและจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้ได้แก่ TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) หรือ เกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย ก็กำลังเป็นเกณฑ์ที่ได้รับความสนใจในวงการวิชาชีพ ซึ่งเมื่อเกณฑ์ต่างๆเริ่มมีการประกาศใช้ ย่อมส่งผลต่อลักษณะของโครงการอาคารเขียวในหลายรูปแบบ ผู้เขียนได้จำแนกลักษณะของอาคารเขียวในปัจจุบันเป็น 3 เฉด คือ เขียวอ่อน เขียวกลางๆ และ เขียวเข้ม โดยในแต่ละเฉดจะมีความเข้มข้นในการออกแบบและก่อสร้างอาคารเขียวที่แตกต่างกัน อีกทั้ง ทั้ง 3 เฉดยังมีลักษณะที่ตรงกับบางธุรกิจ หรือ ประเภทอาคารต่างๆ ดังนั้นการทำความเข้าใจกับอาคารเขียวในเฉดต่างๆนี้ ย่อมส่งผลดีต่อผู้อ่านในการเข้าใจถึงโครงสร้างอาคารเขียวภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน อันจะส่งผลต่อการปรับตัวให้ทันต่ออุตสาหกรรมอาคารเขียวที่จะมีขึ้นในอนาคต

อาคาร [สี]เขียวอ่อน

อาคารในกลุ่มนี้จะเน้นที่ภาพลักษณ์ของการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยมุ่งหวังให้สังคมและคนทั่วไปรับรู้ถึงการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการ แต่โครงการมักไม่มีการเข้าร่วมการประเมินอาคารเขียวอย่างเป็นทางการ  เนื่องจากอาคารกลุ่มนี้มีเป้าหมายเชิงธุรกิจอยู่ที่คนทั่วไปซึ่งยังไม่ทราบถึงการมีอยู่ของเกณฑ์การประเมินต่างๆ ตัวอาคารจึงไม่ได้มีแรงจูงใจที่จะเข้าร่วมประเมินอย่างเป็นทางการ ประกอบกับยังไม่แน่ใจว่าการเข้าร่วมประเมินและได้รางวัลระดับใดระดับหนึ่งมาจะคุ้มค่ากับการลงทุนและการทำงานที่มีความซับซ้อนขึ้นหรือไม่  แต่อย่างไรก็ดี กระแสทางสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานก็เป็นมีการทวีความสำคัญในสังคมมากขึ้น ทั้งจากข่าวสารและการรณรงค์ของภาครัฐ ทำให้อาคารในกลุ่มเขียวอ่อนนี้ไม่อาจจะละเลยที่จะประยุกต์แนวคิดทางอาคารเขียวได้ ซึ่งอาคารเหล่านี้อาจนำประเด็นหรือแนวคิดทางสิ่งแวดล้อมที่ง่ายๆ ชัดเจน มาประยุกต์ใช้ เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ หรือ แม้กระทั่งการนำพลังงานทางเลือก เช่น เซลแสงอาทิตย์มาใช้ ตัวอย่างกลุ่มอาคารที่ถือเป็นสีเขียวอ่อนในความเห็นของผู้เขียนคือกลุ่มอาคารคอนโดมิเนียมและที่พักอาศัยที่เน้นจุดขายทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นอาคารที่เน้นกลุ้มเป้าหมายยังเป็นคนทั่วไปที่มีรายได้ระดับต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่ทราบเรื่องเกณฑ์การประเมินมากนัก ทำให้อาคารแนวคิดการพัฒนาอาคารเขียวอยู่บนแนวคิดของผู้พัฒนาโครงการมักจะมุ่นเน้นที่การตลาดเป็นสำคัญ อาคารในกลุ่มนี้ถือว่าดีกว่าอาคารทั่วไปที่ไม่คำนึงถึงเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นแต่เพียงยอดขายเพียงอย่างเดียวมากนัก แต่ก็ต้องพึงระวังถึงกลุ่มอาคารที่มุ่งสร้างยอดขายโดยใช้ประเด็นทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นจริง อาทิเช่น การใช้กระจกขนาดใหญ่เพื่อลดพลังงานจากแสงประดิษฐ์ด้วยแสงธรรมชาติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทั้งๆที่ การใช้กระจกมาเกินไปกลับเป็นการเปลืองพลังงานจากระบบปรับอากาศมากกว่า

อาคารที่ถือว่าเป็นตัวอย่างอาคารเขียวอ่อนตามความเห็นของผู้เขียน คือ Circle Living Prototype Condominiumซึ่งมีการใช้ความร้อนจากระบบปรับอากาศมาทำน้ำร้อน ใช้กระจกที่ดีกว่าอาคารทั่วไป ใช้ระบบกรองน้ำที่มีประสอสิทธิภาพ รวมถึงการมีระบบเซลแสงอาทิตย์ถึง 680 ตารางเมตร ซึ่งนับเป็นอาคารคอนโดมิเนียมแห่งแรกที่ลงทุนทางพลังงานหมันเวียนมากขนาดนี้ 

อาคาร [สี]เขียวกลางๆ

ต่างกับอาคารสีเขียวอ่อน อาคารเขียวกลางๆ นี้จะเริ่มมีการอ้างอิง เกณฑ์การประเมินอาคารเขียวในการออกแบบ แต่อาจจะยังไม่มีการลงทะเบียนแสดงความเจตน์จำนงเข้าร่วมประเมินอย่างเป็นทางการ อาคารในกลุ่มนี้จะมีการนำเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวมาเป็นแนวทางในการออกแบบให้มากที่สุด เจ้าของหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาคารกลุ่มนี้เริ่มที่จะเห็นของความสำคัญของเกณฑ์การประเมินอาคารเขียว ว่าสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอาคารของตนได้ แต่เนื่องจากอาคารเขียวที่มีการประเมินอย่างเป็นระบบนั้นนับเป็นเรื่องใหม่ จึงอาจไม่มีความเข้าใจในตัวระบบการประเมิน กระบวนการขั้นตอน งบประมาณที่ต้องมีการจัดสรรรองรับไว้ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการออกแบบแล้ว จึงมักจะไม่สามารถเข้าร่วมประเมินอย่างราบรื่นนัก ผลที่ตามมาก็คือการมอบหมายให้สถาปนิกและวิศวกรออกแบบตามเกณฑ์อาคารเขียวเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในบางครั้งอาจตั้งเงื่อนไขว่างบประมาณการก่อสร้างต้องไม่เพิ่มขึ้นด้วย ตัวอย่างอาคารในกลุ่มนี้คือกลุ่มอาคารราชการที่มีการประกวดแบบ ในบางครั้งข้อกำหนดในการประกวดจะระบุว่าให้ออกแบบอาคารภายใต้เกณฑ์การประเมินอาคารเขียว หรือไม่ผู้เข้าร่วมประกวดก็จะนำเสนอว่าอาคารจะถูกออกแบบภายใต้เกณฑ์อาคารเขียวและได้รางวัลระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้รับดารว่าจ้างแล้วประเด็นอาคารเขียวมักจะมีความไม่ชัดเจน ทั้งในแง่งบประมาณ ผู้รับผิดชอบ กรอบเวลา เป็นต้น อาคารที่ทางผู้เขียนได้มีประสบการณ์ในกระบวนการโดยตรงคือ การประกวดแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งเกือบทุกเจ้าที่เข้าประกวดในรอบสุดท้ายจะอ้างอิงว่าอาคารจะได้รับรางวัล LEED ระดับใดระดับหนึ่ง แต่แม้กระทั่วในปัจจุบันที่อาคารใกล้จะเริ่มก่อสร้างแล้ว ผู้เขียนยังไม่พบว่าอาคารได้ลงทะเบียนอาคารเขียว LEED ในฐานข้อมูล (แบบเปิดเผยของ USGBC และ GBCI)แต่อย่างใด ซึ่งในท้ายที่สุดหากอาคารในกลุ่มนี้มีความชัดเจนทั้งในแง่งบประมาณ และ กระบวนการ มากขึ้น ก็อาจนำไปสู่การเข้าร่วมประเมินอยากเป็นทางการในที่สุด

อาคาร [สี]เขียวเข้ม

อาคารในกลุ่มนี้จะมีการเข้าร่วมประเมินอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์ LEED หรือ เกณฑ์อื่นๆก็ตาม ซึ่งอาคารในกลุ่มนี้จะมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการมุ่งเอารางวัลระดับต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะเกิดจากกลุ่มเจ้าของอาคารหรือผู้บริหารระดับสูงมีนโยบายชัดเจนในด้านอาคารเขียว ดังนั้น จึงมีการวางกรอบงบประมาณที่ชัดเจน การจัดจ้างที่ปรึกษาตั้งแต่เริ่มโครงการ อีกทั้งมีความยืดหยุ่นสูงสามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว อาคารในกลุ่มนี้จะมีการนำเกณฑ์การประเมินมาวิเคราะห์หาแนวทางและกลยุทธการทำคะแนน และมีการประยุกต์ใช้มาตรการต่างๆอย่างจริงจัง ซึ่งมุ่งไปสู่การได้คะแนนสูงสุดภายใต้งบประมาณที่กำหนดไว้  อาคารจึงมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับหัวข้อคะแนนอาคารเขียวที่ได้มีการแบ่งหมวดหมู่ที่ครอบคลุม ตั้งแต่ ที่ตั้งโครงการและภูมิสถาปัตยกรรม การประหยัดน้ำ พลังงาน การใช้วัสดุ คุณภาพชีวิต และ การใช้นวัตกรรมใหม่ๆ  เป็นต้น ความท้าทายของอาคารในกลุ่มนี้คือ ความเที่ยงตรงในการทำคะแนนซึ่งไม่มุ่งเน้นเพียงแค่การทำเอกสาร หากแต่ต้องมุ่งเน้นที่เจตนารมณ์ของการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง อาคารในกลุ่มนี้ คืออาคารเอกชนชั้นนำต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ อาทิเช่น ธนาคารกสิกรไทย ปูนซิเมนต์ไทย ปตท. Citibank USAID เป็นต้น ตัวอย่างอาคาร (สี)นี้ ตามความเห็นของผู้เขียนคือ อาคารธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่พหลโยธิน ได้ผ่านการรับรอง LEED ในหมวด Commercial Interior และได้รับรางวัลระดับ Gold เป็นหลังแรกของไทย ซึ่งมีการก่อสร้างที่คำนึงความสะอาดสูงสุด มีระบบควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ดีเยี่ยม การลดพลังงานด้วยระบบปรับอากาศและแสงสว่างที่ทันสมัย และได้มาตรฐาน ตลอดจนการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่งานสถาปัตยกรรม ไปจนถึง เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวต่างๆ เป็นต้น   

สรุปภาพรวมอาคารเขียว

โครงสร้างของอาคารเขียวในไทยในขณะนี้ ตามประสบการณ์ของผู้เขียน คงหนีไม่พ้นอาคารเขียวในสามเฉดสีนี้ ซึ่งผู้เขียนไม่ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะบอกว่าอาคารเขียวในระดับสีใดสามารถอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่ากัน ในความเป็นจริงแล้ว อาคาร (สี)เขียวอ่อน ที่มีการใช้มาตรการทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้น เต็มเปี่ยมด้วยเจตนารมณ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ก็อาจทรงคุณค่าการอาคาร (สี)เขียวเข้ม ที่เน้นการทำเอกสารและหาช่องทางในการทำคะแนนเพื่อผ่านเกณฑ์การประเมินอาคารเขียวเพียงอย่างเดียว อาคารเขียวแบบต่างๆตามการจำแนกของผู้เขียนเป็นเพียงระดับของอาคารเขียวในการเข้าสู่เกณฑ์การประเมินเป็นทางการมากน้อยเพียงไร ในอุดมคติแล้ว หากเจ้าของอาคารเต็มเปี่ยมด้วยเจตนารมณ์ที่จะช่วยโลก และสิ่งแวดล้อม อย่างจริงใจ การเป็นอาคาเขียวเข้มก็เปรียบเสมือนรางวัลที่สังคมได้มอบให้แทนคำขอบคุณของทุกภาคส่วนในสังคมนั้น หากทุกฝ่ายมีแนวคิดเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นอาคารเขียวในเฉดใดอนาคตของอาคารที่ดีขึ้น อนุรักษ์พลังงาน และ เป็นมิตรก็สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ย่อมอยู่ไม่ไกลนัก