ความเคลื่อนไหวอาคารเขียว

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on linkedin
LinkedIn
Share on pinterest
Pinterest
Share on print
Print

ปัจจุบันการออกแบบอาคารเขียว หรือ ทำอาคารให้เป็นอาคารเขียวในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากวงการการออกแบบรวมทั้งเจ้าของอาคารค่อนข้างมากเนื่องจากกระแสการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของโลก และการคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและรักษาสภาพแวดล้อม หากแต่การทำให้เป็นรูปธรรม จับต้องและตรวจวัดได้นั้น หลายหน่วยงานหันมาพึ่งพาเกณฑ์อาคารเขียว ซึ่งเป็นเกณฑ์การให้คะแนนความเขียวในการคำถึงการลดใช้พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาคารด้านต่าง ๆ เช่น สถานที่ตั้งและการออกแบบส่งเสริมการลดการใช้รถยนต์ การมีเปิดพื้นที่โล่งที่มีคุณภาพ การไม่สร้างผลกระทบที่ไม่ดีต่อพื้นที่รอบข้างทั้งระหว่างการก่อสร้างและเมื่ออาคารเสร็จแล้ว การประหยัดพลังงานและน้ำในอาคาร การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการคำนึงถึงคุณภาพของสภาวะแวดล้อมด้านอากาศ แสงสว่างและอุณหภูมิภายในอาคาร

เกณฑ์การประเมินอาคารเขียวนั้นมีขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. 2533 คือเกณฑ์ BREEAM ปัจจุบันมีอาคารได้รับการรับรองจากเกณฑ์ BREEAM แล้วกว่า 250,000 โรงการ สำหรับเกณฑ์ของต่างประเทศที่เป็นที่นิยมในประเทศไทยคือ LEED นั้น เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 และปัจจุบัน ณ ไตรมาสแรกของ ปี พ.ศ. 2557 มีอาคารที่ได้รับการรับรองแล้วรวมกันมีพื้นที่มากกว่า 10.5 พันล้านตารางฟุตหรือเกือบ 1  พันล้านตารางเมตรทั่วโลก เมื่อดูสถิติของปริมาณพื้นที่โครงการที่ขอรับรองอาคารเขียวของ LEED จะพบว่ามีปริมาณน้อยในช่วงปีแรกๆ และมาได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์อาคารเขียวอื่นๆ  เช่น BREEAM ของอังกฤษ CASBEE ของญี่ปุ่นจะพบว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงกระแสความสนใจในการออกแบบโครงการให้เป็นอาคารเขียวและได้รับการรับรองตามเกณฑ์ประเมินเหล่านี้

สำหรับเกณฑ์อาคารเขียวของไทย Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability for New Construction and Major Renovation หรือ TREES นั้นเพิ่งทำการเปิดตัวในปี พ.ศ. 2555 และดำเนินการโดยสถาบันอาคารเขียวไทย น่าจะใช้เวลาสักระยะจึงจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในปัจจุบันหลายองค์กรในประเทศไทย เริ่มหันมาให้ความสนใจในการทำโครงการที่จะขอรับรองอาคารเขียว บริษัทขนาดใหญ่และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางแห่งเริ่มมีประกาศเป็นนโยบายขององค์กรว่าอาคารใหม่จะต้องเป็นอาคารเขียวเท่านั้น การประกวดแบบในหลายๆ โครงการมีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ออกแบบมีที่ปรึกษาอาคารเขียวหรืออกแบบตามแนวทางเกณฑ์อาคารเขียวแนวทางใดแนวทางหนึ่งเพิ่มขึ้น หรือเริ่มมีการปรับปรุงอาคารเดิมให้มีประสิทธิภาพทางด้านพลังงานและการจัดการอาคารให้สนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันเกิดการขาดแคลนบุคลากรที่สามารถเป็นที่ปรึกษาในการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารเหล่านี้ เนื่องจากจะต้องการบุคลากรที่เข้าใจหลากหลายมิติของการออกแบบอาคารเขียวด้านต่าง ๆ ซึ่งจะมีข้อมูลทางเทคนิคค่อนข้างมาก

การก่อสร้างอาคารเขียวนั้นไม่ใช่เป็นเพียงแค่แนวความคิดตามกระแสนิยม หากแต่เป็นเกณฑ์ที่อาคารทั่วไปควรจะต้องทำตามให้ได้ หากวงการออกแบบและก่อสร้างอาคารเข้าใจตรงกันพร้อมทั้งได้รับความต้องการมาจากเจ้าของอาคารด้วย ก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติในการออกแบบ การจัดการการก่อสร้าง และการผลิตวัสดุอุปกรณ์ประกอบอาคารต่าง ๆ ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศที่การออกแบบอาคารตามเกณฑ์อาคารเขียวเป็นที่นิยม การขอรับรองอาคารเขียวนั้นควรจะเริ่มวางแนวคิดตั้งแต่ออกแบบโครงการ แต่อาคารจะได้รับการรับรองต่อเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นและมีการตรวจสอบระบบต่าง ๆ ว่าเป็นไปตามที่ออกแบบแล้ว  อาคารแรกของประเทศไทยที่ขอรับรองอาคารเขียวคือ Interface FLOR Mfg. Facility. Ext. ซึ่งได้รับการประเมินอาคารเขียว LEED จาก USGBC ประเทศสหรัฐอเมริกาในระดับ certified เมื่อปี พ.ศ. 2550  ปัจจุบันมีอาคารในประเทศไทยที่สมัครเพื่อขอรับรองอาคารเขียวจาก USGBC จำนวนเกือบ 127 โครงการ และได้รับการรับรองแล้วจำนวน 71 โครงการ สำหรับเกณฑ์ TREES ของประเทศไทยที่เพิ่งเปิดตัวในปี พ.ศ. 2555 นั้นปัจจุบันมีอาคารลงทะเบียนเพื่อขอการรับรองจำนวนกว่า 60 โครงการ และได้รับการรับรองไปแล้ว 7 โครงการ  ได้แก่

1.             โชว์รูมสำนักงานและศูนย์บริการโตโยต้าเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ระดับ Gold

2.             โชว์รูมสำนักงานและศูนย์บริการโตโยต้าเภตรา ถนนบางบัวทอง-สุพรรณ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ระดับ Gold

3.             ร้าน 7-Eleven สาขาธาราสแควร์ ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ระดับ Platinum

4.             อาคาร ๖๐ พรรษา ราชสุดาสมภพ สำนักพระราชวังสนามเสือป่า ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กรุงเทพฯ ระดับ Platinum

5.             อาคาร IDEO Mobi Sathorn ถนนกรุงธนบุรี เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร  ระดับ Silver

6.             อาคาร National ITMX อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี  ระดับ Gold

7.             อาคารซีพี ออลล์ อะคาเดมี่ (อาคารเรียนปัญญาภิวัฒน์) ถนนแจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ระดับ Gold

ตัวอย่างแนวทางการออกแบบ eco-dealership ของโครงการโชว์รูมและศูนย์บริการในเครือโตโยต้า มีดังนี้

·        การจัดวางผังอาคารและภูมิทัศน์ ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ การเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อลดความร้อนภายในบริเวณอาคาร

·        การอนุรักษ์น้ำ โดยการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำ และ การเลือกใช้น้ำจากแหล่งน้ำทดแทนน้ำประปา

·        การอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าและแสงสว่าง ทั้งจากระบบปรับอากาศ ระบบแสงสว่าง การออกแบบผังอาคารให้มีความสว่างของแต่ละพื้นที่เหมาะสมกับการใช้งาน หรือการใช้อุปกรณ์อัตโนมัติควบคุมแผงไฟ

·        การเลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดและสะท้อนความร้อนสู่อาคาร ทั้งทางผนัง กระจก และหลังคา

·        การควบคุมคุณภาพสภาวะแวดล้อมภายในอาคาร ทั้งการป้องกันมลภาวะจากภายนอก และการป้องกันไม่ให้มลภาวะที่เกิดภายในอาคารไหลเข้าสู่ระบบปรับอากาศ รวมถึงการหลีกเลี่ยงวัสดุที่มีสารพิษภายในอาคาร

สำหรับโครงการโชว์รูมและศูนย์บริการโตโยต้า ไทยเย็น จำกัด สาขาปากช่อง จ.นครราชสีมา นั้นเลือกใช้การวางอาคารในทิศทางที่เหมาะสม มีบ่อน้ำช่วยทำความเย็นบริเวณหน้าโครงการ มีการเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่เดิมและปลูกต้นไม้เพิ่มในโครงการ ใช้วัสดุปูพื้นที่สามารถปล่อยให้น้ำฝนซึมผ่านลงดินได้ ลดพื้นที่ติดตั้งระบบปรับอากาศ มีช่องระบายและถ่ายเทอากาศ ใช้กระจกประหยัดพลังงาน ใช้หลอด LED และใช้ระบบปรับอากาศประสิทธิภาพสูง

การออกแบบอาคารเขียวนั้น มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการก่อสร้างไปสู่การผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยการเปลี่ยนความต้องการของตลาด ซึ่งจะไปผลักด้นให้ผู้ผลิตทั้งในส่วนของผู้ออกแบบอาคาร และผู้ผลิตวัสดุประกอบอาคารต้องปรับกระบวนการผลิตให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจึงจะสามารถขายงานได้ ในแง่ของเทคโนโลยีในการประหยัดพลังงานนั้น สามารถแบ่งเป็น

              1)  การประหยัดพลังงานระหว่างก่อสร้าง คือการเลือกระบบการก่อสร้างที่รวดเร็วและใช้พลังงานน้อย เช่น การทำซ้ำ การใช้วัสดุที่แข็งแรงทำให้ใช้ปริมาณน้อย การใช้ระบบการก่อสร้างแบบ prefabrication

              2)  การออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานระหว่างการใช้งาน ซึ่งได้แก่การออกแบบให้อาคารมีความสามารถในการป้องกันความร้อนที่ดี และลดภาระการทำความเย็นด้วยการใช้วัสดุผนังที่สามารถกันความร้อนได้ดี หรือ ใช้วัสดุฉลาด เช่น วัสดุที่เมื่อเปลี่ยนสถานะสามารถดูดความร้อนจำนวนมากและทำให้อากาศรอบข้างเย็น (Phrase change material -PCM) สำหรับวัสดุโปร่งแสงก็มีหลากหลายประเภท ทั้งกระจกประหยัดพลังงานที่ป้องกันความร้อนได้ดีแต่ยอมให้แสงสว่างเข้าไปในอาคารได้มาก กระจกประเภท

เทคโนโลยีของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในอาคารก็จะมีการปรับให้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น ทำให้ประหยัดพลังงาน เช่น การใช้หลอดไฟแบบ LED ที่ปัจจุบันราคายังสูงอยู่แต่ก็มีแนวโน้มในการลดลงอย่างรวดเร็ว การใช้ไฟฟ้าแสงสว่างร่วมกับการใช้แสงธรรมชาติ การใช้เครื่องปรับอากาศประสิทธิภาพสูงที่สามารถปรับได้ตามภาระการทำความเย็น เช่น ระบบ VAV  และ ระบบ displacement ventilation  ระบบการนำความเย็นกลับมาใช้ใหม่ (heat exchanger) การใช้ระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ (building management system) การปรับเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะในสำนักงานมาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาแทน ทั้งนี้ระบบเกี่ยวกับการปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน มักจะเป็นระบบที่มีการใช้งานมานานแล้ว แต่ไม่นิยมมากนักในประเทศไทยอาจจะเนื่องจากราคาและความไม่เคยชิน ซึ่งในอนาคตน่าจะมีการใช้มากขึ้นตามความต้องการในการออกแบบอาคารเขียว นอกจากนี้ค่าไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้นตลอดเวลาซึ่งเป็นส่วนผลักดันที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง เมื่อความต้องการไฟฟ้าในอาคารน้อยลง การผลิตไฟฟ้าใช้เองให้พอเพียงด้วยการติดตั้งระบบผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น การใช้ระบบโซล่าเซลล์ ก็ทำได้ง่ายขึ้น หลายประเทศได้หยุดการสร้างโรงงานไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล และแหล่งพลังงานนิวเคลียร์แล้วหันมาส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกันอย่างจริงจัง ทำให้ยอดการติดตั้งระบบต่าง ๆ เหล่านี้สูงขึ้นอย่างมาก

                            หลอด LED                                        ปลั๊กไฟช่วยตรวจสอบการใช้ไฟฟ้าควบคุมได้จากคอมพิวเตอร์

นอกจากการผลิตวัสดุที่เมื่อมาอยู่ในอาคารจะช่วยในการประหยัดพลังงานแล้ว ยังมีความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตวัสดุเองด้วย ซึ่งเป้าหมายคือการลดการใช้พลังงานในโรงงานเอง การที่ทำให้วัสดุปนเปื้อนสารพิษน้อยที่สุดโดยการเลือกใช้สารเคมีที่เหมาะสม  และการใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยที่สุดโดยการเลือกใช้วัตถุดิบในประเทศหรือปรับเปลี่ยนส่วนผสมให้มีการนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบหนึ่ง ก็ทำให้ในส่วนของโรงงานเองสามารถลดการใช้พลังงานและผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย

                          คอนกรีตบล็อกที่ใช้คาร์บอนไดออกไซต์ในการผลิต                 พื้นไม้จากเศษไม้ที่ใช้ทำลังหรือที่รองต่างๆ    

                                  (http:www.buildinggreen.com)                              (http:www.buildinggreen.com)                           

บทความโดย   ผศ.ดร.ชนิกานต์ ยิ้มประยูร ประธานอนุกรรมการศึกษาฉลากสำหรับอาคารเขียว และกรรมการสถาบันอาคารเขียวไทย